2. คำสรรพนาม
คำสรรพนาม คือ คำแทนชื่อหรือแทนนามที่กล่าวมาแล้วในตอนต้น เพื่อจะได้ไม่ต้องกล่าวถึงนามนั้นซ้ำอีก แบ่งออกเป็น 6 ชนิด ดังนี้
2.1 บุรุษสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนชื่อผู้พูด,ผู้ที่พูดด้วยและผู้ที่พูดถึง
ก. บุรุษที่1 ใช้แทนชื่อผู้พูด เช่น ฉัน ผม กระผม ข้าพเจ้า อาตมาภาพ ฯลฯ
ข. บุรุษที่2 ใช้แทนชื่อผู้ที่พูดด้วย เช่น ท่าน เธอ ใต้เท้า ฝ่าพระบาท แก เรา เอ็ง ฯลฯ
ค. บุรุษที่3 ใช้แทนชื่อผู้ที่พูดถึง เช่น เขา มัน ฯลฯ
หมายเหตุ คำบางคำอาจเป็นได้หลายบุรุษ ซึ่งอาจทำหน้าที่เป็นผู้พูด ผู้พูดด้วย หรือผู้ที่พูดถึง เช่น ท่าน
ท่านที่เคารพโปรดฟังข้าพเจ้า (บุรุษที่2)
ฝากบอกท่านด้วยว่าผมคิดถึง (บุรุษที่3)
2.2 ประพันธสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนาม หรือแทนสรรพนามที่อยู่ติดต่อกันข้างหน้า ได้แก่คำว่า ที่ ซึ่ง อัน ผู้ ดัง ผู้ที่ ผู้ซึ่ง เช่น
คนที่เป็นนักเรียนต้องมีความขยันขันแข็ง
เขาบูชาความรักซึ่งทำให้เขาตาบอด
2.3 วิภาคสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนาม หรือสรรพนามที่แยกออกเป็นแต่ละคน แต่ละสิ่ง แต่ละพวก ได้แก่ ต่าง บ้าง กัน เช่น
นักเรียนต่างทำหน้าที่ของตน
นักเรียนทั้งหลายบ้างก็อ่านหนังสือ บ้างก็เล่นฟุตบอล บ้างก็นอน
2.4 นิยมสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามหรือสรรพนามชี้เฉพาะเพื่อบ่งบอกความไม่ชัดเจนหรือบอกระยะของสิ่งที่ต้องการจะสื่อสาร ได้แก่ นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น ทั้งนี้ ทั้งนั้น เช่นนี้ เช่นนั้น อย่างนี้ อย่างนั้น เช่น
ฉันอยู่นี่สบายกว่าอยู่โน่น
นั่นเป็นของฉัน
2.5 อนิยมสรรพนาม คือ สรรพนามที่ใช้แทนนามที่ไม่ชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่ ใคร อะไร ไหน ผู้ใด อื่น ผู้อื่น เช่น
ใครจะมากับฉันก็ได้
ผู้ใดเป็นคนดี เราควรคบผู้นั้น
6.ปฤจฉาสรรพนาม คือ คำที่ใช้แทนนามแต่มีเนื้อความเป็นคำถาม ได้แก่ ใคร อะไร ไหน ผู้ใด คำเหล่านี้มีใช้อยู่ในอนิยมสรรพนามแต่ใช้ต่างกัน คือ ปฤจฉาสรรพนามใช้เป็นคำถามส่วนอนิยมสรรพนามใช้เป็นคำแทนชื่อที่ไม่ชี้เฉพาะ ไม่ได้ใช้เป็นคำถาม เช่น
เมื่อเช้านี้ใครมาหาฉัน (ปฤจฉาสรรพนาม)
ใครจะมาหาฉันก็ได้ (อนิยมสรรพนาม)
ที่มา : วิเชียร เกษประทุม. (2557). หลักภาษาไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์พ.ศ.พัฒนา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น