5. คำวิเศษณ์
คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ประกอบคำหรือขยายคำอื่น ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา หรือคำวิเศษณ์ เพื่อบ่งชี้ลักษณะต่างๆ เช่น ชนิด สัณฐาน ขนาด สี กลิ่น รส เสียง สัมผัส อาการ นอกจากนี้ยังบ่งชี้สถานที่ ปริมาณ จำนวน เป็นต้น คำวิเศษณ์แบ่งออกเป็น 10 ประเภท ดังนี้
5.1 ลักษณะวิเศษณ์ [ลัก-สะ-หนะ-วิ-เสด] คือ คำวิเศษที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกลักษณะ ซึ่งหมายรวมถึงสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยหู จมูก ลิ้น ผิวหนัง เพื่อบอกชนิด สัณฐาน ขนาด สี กลิ่น รส เสียง สัมผัส อาการ ซึ่งสามารถแยกย่อยได้ดังนี้
1) บอกชนิด เช่น ดี ชั่ว อ่อน ดิบ แก่ หนุ่ม สาว
ตัวอย่าง : วัวแก่ชอบกินหญ้าอ่อน
2) บอกสัณฐาน เช่น ดี กลม รี แบน แป้น เหลี่ยม ราบ
ตัวอย่าง : ทหารเดินเป็นวงกลม
3) บอกขนาด เช่น เล็ก ใหญ่ โต กว้าง แคบ สูง ต่ำ อ้วน ผอม
ตัวอย่าง : บ้านของนายอำเภอหลังใหญ่
4) บอกสี เช่น ขาว ดำ แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน ชมพู
ตัวอย่าง : นักเรียนสวมเสื้อสีขาว
5.2 กาลวิเศษณ์ [กาน-ละ-วิ-เสด] คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกเวลา เช่น เช้า สาย บ่าย เย็น ค่ำ ดึก เดี๋ยวนี้ แต่ก่อน กลางวัน กลางคืน
ตัวอย่าง : คุณปู่ตื่นแต่เช้า รถยนต์ออกเวลาเที่ยง เจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวัน
5.3 สถานวิเศษณ์ [สะ-ถาน-นะ-วิ-เสด] คือคำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกสถานที่ เช่น ไกล ใกล้ หน้า หลัง เหนือ ใต้ ซ้าย ขวา บน ล่าง ห่าง ชิด ริม ขอบ
ตัวอย่าง : ลูกเสือเดินทางไกล บ้านฉันอยู่ใกล้ รถช้าชิดซ้าย
5.4 ประมาณวิเศษณ์ [ ประ-มา-นะ-วิ-เสด] คือคำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกปริมาณ เช่น มาก น้อย จุ ทั้งหมด ทั้งสิ้น ครบ หลาย ตัวเลขบอกจำนวน
ตัวอย่าง : คนอ้วนมักกินจุ รู้มากยากนาน รู้น้อยพลอยรำคาญ
5.5 นิยมวิเศษณ์ [นิ-ยม-วิ-เสด] คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกชี้เฉพาะได้แน่นอนชัดเจนลงไป เช่น นี่ โน่น นั่น นั้น โน้น แน่นอน เอง เฉพาะ
ตัวอย่าง : อาคารนี้ทาสีขาว สุนัขตัวนั้นไล่ไก่
ฉันทำกับข้าวเอง ร้านตัดผมหยุดเฉพาะวันพุธ
5.6 อนิยมวิเศษณ์ [อะ-นิ-ยม-วิ-เสด] คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกความไม่เฉพาะเจาะจงลงไปและไม่ได้เป็นคำถาม เช่น ใคร อะไร ไหน ทำไม
ตัวอย่าง : เธอจะพักบ้านหลังไหนก็ได้
สิ่งใดไม่สำคัญเท่าความสามัคคี
5.7 ปฤจถาวิเศษณ์ [ปริด-ฉา-วิ-เสด] คือคำวิเศษณ์ที่ประกอบคำอื่นเพื่อบอกเนื้อหาหรือแสดงความสงสัย เช่น ใคร อะไร ไหน ทำไม อย่างไร
ตัวอย่าง : คุณแม่จะไปไหน วันนี้เธอทำอะไรบ้าง
5.8 ประดิชญาวิเศษณ์ [ประ-ดิด-ยา-วิ-เสด] คือ คำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อแสดงการตอบรับเป็นควาทสละสลวยของภาษาหรือแสดงความเป็นกันเองของคู่สนทนา เช่น ครับ คะ ค่ะ จ๊ะ จ้ะ จ๋า ขา
ตัวอย่าง : คุณพ่อมีแขกมาหาค่ะ
แม่จ๋าแม่ไปไหนมาจ๊ะ
5.9 ประติเสธวิเศษณ์ [ประ-ติ-เสด-วิ-เสด] คือคำวิเศษณ์ที่ใช้ประกอบคำอื่นเพื่อบอกความปฏิเสธ ไม่ยอมรับหรือห้าม เช่น มิ มิได้ ไม่ได้ ไม่ใช่ อย่า หาไม่ บ่
ตัวอย่าง : คนไม่รักชาติของตนเป็นคนคบไม่ได้
เธออย่าพูดเรื่องนี้ให้ใครฟังนะ
5.10 ประพันธวิเศษณ์ [ประ-พัน-ทะ-วิ-เสด] คือคำวิเศษณ์ที่ประกอบคำอื่นหรือคำวิเศษณ์เพื่อเชื่อมประโยคให้มีความเกี่ยวข้องกัน
ตัวอย่าง : รถคันนี้ดีไม่กินน้ำมัน (ประกอบวิเศษณ์-ดี)
เธอสวยมากซึ่งดูไม่เบื่อเลย (ประกอบวิเศษณ์-มาก)
ที่มา : วิเชียร เกษประทุม. (2557). หลักภาษาไทย. นนทบุรี: สำนักพิมพ์พ.ศ.พัฒนา.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น